“Product Design พลังวิเศษที่เปลี่ยนสิ่งของที่ธรรมดาให้พิเศษและเป็นที่ต้องการของทุกคน”
วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับแบรนด์ไทยที่แปลงโฉมไอเทมแต่งบ้านให้เก๋และโมเดิร์น ลืมภาพจำไอเทมแต่งบ้านธรรมดาๆไปได้เลยกับ Product Design Matters (PDM)
เมื่อพูดถึงแบรนด์ Product Design Matters (PDM) ทุกคนคงจะนึกถึง เสื่อไทยโมเดิร์น ที่ถูกออกแบบออกมาอย่างทันสมัยที่ออกขายบนโลกออนไลน์ โดย PDM เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ของคนไทย ก่อตั้งโดย คุณดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ และ คุณแมน-แมนรัตน์ สวนศิลป์พงศ์ ที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาให้โมเดิร์นและน่าครอบครอง

Credit: Official Instagram PDM
จากประสบการณ์ของคุณดิวที่เคยทำงานด้านดีไซน์ให้กับบริษัทเฟอร์นิเจอร์มาก่อนนั้น เขาและเพื่อนดีไซเนอร์อย่างคุณ Sini Henttonen ชาวฟินแลนด์ เผอิญได้ไปเที่ยวโคราชแล้วไปเจอเสื่อไทย ทำให้เขาได้นึกถึงของตกแต่งในบ้าน อย่างพรม ที่ทำให้บ้านสวยและน่าอยู่ ช่วยเติมเต็มองค์ประกอบในบ้าน แต่ด้วยความที่พรมนั้นไม่เหมาะกับสภาพอากาศในเมืองไทยที่ร้อนชื้นและทำให้เกิดฝุ่นได้ง่าย ทำให้ฟังก์ชั่นในการใช้งานดูจะไม่เหมาะสมกับเมืองไทยเท่าไหร่

Credit: Official Instagram PDM
ด้วยการสังเกตุและไอเดียที่มี จึงทำให้คุณดิวอยากจะพลิกโฉมเสื่อไทยธรรมดา ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนรูปลักษณ์ดีไซน์ แต่ต้องการให้ร่วมสมัย จึงได้มีการเปลี่ยนองค์ประกอบเล็กๆอย่าง วัสดุ คุณภาพ และความทนทานในการใช้งาน อย่างเช่น การผสมสารป้องกันยูวีในพลาสติก PP เพื่อให้เสื่อทนแดดมากขึ้น ให้สีไม่ซีดและพลาสติกไม่เปราะจากการใช้งานหรือการโดนแดด บวกกับได้ปรึกษาคุณแมน ที่เป็นพาร์ทเนอร์และรุ่นพี่ที่เคยทำงานด้วย จึงได้เริ่มลงมือและพัฒนาไปด้วยกัน จนเกิดเสื่อไทยของ PDM ที่โดดเด่นนั้นเอง

Credit: บทความ Website aday magazine
ในช่วงปีแรก PDM ประสบปัญหาด้านการขายเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ มีราคาค่อนข้างสูงกว่าในท้องตลาด และคนคิดว่าทำไมต้องซื้อเสื่อที่มีราคาแพงขนาดนี้ จึงทำให้ต้องพยายามเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นสถาปนิกหรือนักออกแบบ ที่น่าจะเข้าใจความสำคัญของดีไซน์ วัสดุ กับราคา
แต่ด้วยมุมมองของคุณแมน จากประสบการณ์ทำงานด้านการตลาดและ E-commerce จึงมีมุมมองว่า การขายผ่านช่องทางออนไลน์สามารถพัฒนาแบรนด์ไปได้ไกลกว่า เพราะผู้คนสามารถที่จะเลือกดูสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ บวกกับที่ผู้คนตอบรับและสนใจรูปภาพในโซเชียลมากกว่าไปเห็นของจริงในโชว์รูม และการ pre-order สินค้านั้น สามารถนำยอดสั่งซื้อไปสั่งผลิตจริง เพื่อป้องกันการเกิดของค้างสต๊อกได้ จึงทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากกว่า

Credit: Official Instagram PDM
ด้วยเหตุนี้ทำให้แบรนด์ PDM เน้นย้ำในเรื่อง ‘การสื่อสาร’ หรือ เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ กับผู้ซื้อโดยตรง มีแนวคิดในการกำหนดทิศทางของแบรนด์ผสมกับวิธีการทำงานในแบบ Start Up คือ ความเร็วและการลองผิดลองถูก เนื่องจากมีทีมหลังบ้านและผู้ผลิตที่ดี ทำให้สามารถซื้อขายแบบ Pre-Order ได้ค่อนข้างลงตัว
สอดคล้องกับมิติความยั่งยืน การขายแบบ Pre-Order ทำให้ผลิตสินค้าเท่ากับจำนวนที่คนต้องการเป็นเจ้าของ ไม่มีของเหลือ ส่งผลให้ไม่ต้องลดคุณค่าของผลิตภัณฑ์โดยการทำโปรโมชั่น หรือเซลล์ทิ้งตลอดเวลา แล้วลูกค้าก็ได้สินค้าที่มีดีไซน์ที่ดี ราคาที่ดีมากนั้นเอง
PDM มีทีมดีไซน์ภายในออฟฟิศที่แข็งแรงทั้งในส่วนของการออกแบบผลิตภัณฑ์และการสื่อสาร ถ้าเป็นงานออกแบบเพื่อแบรนด์โดยตรง จะเน้นไปที่ความเชี่ยวชาญและทิศทางที่เป็นเอกลักษณ์ของดีไซเนอร์ หรือ Studio ทั้งจากในไทยและต่างประเทศ
ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นเสื่อ เพราะ การออกแบบสามารถต่อยอดจากสิ่งที่มีได้จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กล่องทิชชู่ ที่รองจาน ตะกร้า อีกทั้งยังสามารถโฟกัสไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ พวกโซฟา เก้าอี้ โต๊ะ ฯลฯ และสุดท้ายในด้านของแฟชั่นพวกเสื้อผ้าต่างๆ เพราะดีไซเนอร์แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงทำให้เกิดโมเดลธุรกิจต่างๆ ออกมาตามความสามารถและความเชี่ยวชาญที่สามารถต่อยอดได้ให้กับแบรนด์

Credit: Official Instagram PDM
PDM ได้แบ่งโมเดลธุรกิจออกเป็น 4 ธุรกิจ
- Original Design คือ คิดเอง ทำเอง ขายเอง คือการออกแบบผลิตภัณฑ์และสินค้าออกแบบร่วมกับดีไซเนอร์
- Select คือ คัดเลือกและออกแบบ เลือกหาของดีไซน์ดีๆ ซื้อมาขายไป
- Collaboration คือ การทำงานร่วมกับแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ประสานงานและออกแบบร่วมกับแบรนด์นั้นๆ
- Supervision คือ การทำของพรีเมียมให้กับองค์กรต่า ๆ โดยทำทั้งระบบ ตั้งแต่ผลิต ตรวจสอบคุณภาพ และส่งของให้
และด้วยเหตุนี้เองทำให้การ Collab ได้มีโอกาสร่วมงานกับสตูดิโอที่มีประสบการณ์ทำงานสูง ไม่ว่าจะเป็น DOT Design Studio, ease studio, Jacob Jensen Design, Kaniit.Textile, Line Design Works, Sini Henttonen, SRINLIM, Studio KN, THINKK Studio, Tong Ren และอีกมากมาย

Credit: Official Instagram PDM
จากโมเดลธุรกิจเหล่านี้ การ Collaboration ยังสร้างปรากฏการณ์ ‘เสื่อที่มีทุกบ้าน’ และทำให้เจ้าของโรงงานผลิตเสื่อต่างลุกขึ้นมายกระดับเสื่อไทยให้มีความทันสมัยมากขึ้น จนเกิดเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคมากมาย
PDM ยังคงต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานผลิตภัณฑ์ จับคู่ collab กับดีไซเนอร์และแบรนด์ต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ดีไซน์และไอเดียใหม่ออกมา จนทำให้เกิดภาพจำและเป็นเอกลักษณ์ที่ PDM นั้นมอบให้กับลูกค้าจนเป็นกิมมิคที่ลูกค้าชื่นชอบนั้นเอง

Credit: Official Instagram PDM
สุดท้ายนี้พวกเราก็จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจของ PDM นั้น ไม่ใช่แค่การออกแบบดีไซน์เพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เพราะการออกแบบดีไซน์นั้นมีการพัฒนาและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เวลานึกถึงงานออกแบบดีไซน์ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านต่างๆ คนจะนึกถึง Product Design Matters (PDM) นั้นเอง
เรียบเรียงโดย: รัชชานนท์ เฉลิมธารานุกูล (Business Hole in One Team)
ติดตามเรื่องราวสนุกๆ ความรู้ ของธุรกิจ แบรนด์ และการออกแบบกับ Business Hole in One มีเรื่องราวดีๆ มาให้อ่านกันทุกสัปดาห์