Marimekko แฟชั่นผ้าพิมพ์ลายดอกไม้ที่เกิดจากภัยสงคราม แบรนด์สัญชาติฟินแลนด์ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันมาอย่างยาวนาน อย่าง Tote Bag ลาย Unikko หรือลายดอกป๊อปปี้ ที่เป็น Iconic ที่เห็นปุ๊ปก็รู้เลยว่านี่คือ Marimekko
แต่กว่าที่จะมาถึงจุดๆนี้ แบรนด์ต้องเผชิญกับเรื่องราวมามากมาย วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของ Marimekko กัน

Credit: Official Website Marimekko
Marimekko ก่อตั้งโดย คุณ ‘อาร์มี ราเตีย’ (Armi Ratia) เธอเกิดในปี 1912 ในครอบครัวที่พ่อเป็นพ่อค้าและแม่เป็นครู ในวัยเด็ก เธอเป็นเด็กเงียบๆที่ชอบเขียนหนังสือ ภายใต้สภาวะสงครามในช่วงนั้นและความรุนแรงรอบตัว ครอบครัวของอาร์มีตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดและอพยพมาอยู่ที่เฮลซิงกิ
เมื่อโตขึ้น อาร์มี ได้ไปเรียนต่อด้านออกแบบสิ่งทอที่โรงเรียนศิลปะและการออกแบบในเฮลซิงกิ ประกอบกับเขียนนิยายส่งนิตยสารเพื่อส่งตัวเองเรียน ต่อมาในปี 1935 ปีเดียวกับที่เธอเรียนจบ เธอก็แต่งงานกับคุณวิลิโย ราเตีย (Viljo Ratia) แฟนหนุ่มนายทหารที่พบรักกันตั้งแต่ก่อนจะย้ายเข้าเมืองไปเรียนต่อ

Credit: Website Find a grave
หลังจากชีวิตคู่ของอาร์มีและวิลิโยเริ่มต้นได้เพียงไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น มันได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับอาร์มีอย่างรุนแรง จากการสูญเสียพี่น้องสองคนไปในจากสงครามกันระหว่างฟินแลนด์และรัสเซีย นอกจากนี้ยังสูญเสียบ้าน จากข้อมูลที่บันทึกไว้กล่าวว่า เธอเหลือเพียงเสื้อกันฝนและหน้ากากกันแก๊สรั่วๆ ที่ติดตัวเพียงเท่านั้น นั่นทำให้แนวคิดที่มีต่อชีวิตของเธอเปลี่ยนไป การที่เธอนั้นยังมีชีวิตรอดนั้นเป็นดั่งปาฏิหารย์ เธอจึงพยายามมองหาความสวยงามของชีวิตจากความเรียบง่ายรอบตัว
ในปี 1942 อาร์มีได้งานเป็นก๊อปปี้ไรเตอร์ในเอเจนซี่แห่งหนึ่งที่เฮลซิงกิ ทำงานอยู่ 7 ปี เธอก็ลาออก ตั้งใจว่าจะไปใช้ชีวิตที่บ้านบนเขาเพื่อเก็บตัวเขียนนิยายตามฝัน ปรากฏว่า วิลิโย ผู้เป็นสามีก็ลาออกจากกองทัพเช่นกัน และใช้เงินเก็บที่มีลงทุนซื้อโรงงานผลิตผ้าน้ำมันเก่าที่ใกล้ล้มละลาย มาก่อตั้งธุรกิจในชื่อ Printex ในปี 1949

Credit: Official Website Marimekko
แต่ทว่าขณะนั้น ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ยากจนมาก จากการทำสงครามบวกกับจ่ายค่าปฏิกรรมให้กับสหภาพโซเวียต อีกทั้งไม่เคยมีกิจการใดในฟินแลนด์มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิงมาก่อน เธอได้รวบรวมทีมครีเอทีฟและศิลปินรุ่นใหม่มาออกแบบลายผ้าด้วยแนวคิด อิสระ ไร้กฎเกณฑ์และความคาดหวังใดๆ เปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆทั้งฝั่งออกแบบและการผลิต

Credit: บทความ A day magazine
ในช่วงนั้นเทรนด์ผ้าพิมพ์ลายส่วนใหญ่ จะพิมพ์ลายแพตเทิร์นเล็กๆ แต่ Printex แหวกขนบด้วยแพตเทิร์นลายใหญ่ เต็มไปด้วยสีสัน
งานออกแบบที่หลากหลาย แม้จะเป็นที่สนใจ แต่กลับขายไม่ได้เลย เพราะคนซื้อไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ยังไง นี่จึงเป็นที่มาให้อาร์มีและทีมลุกขึ้นมาออกแบบชุดกระโปรงด้วยผ้าลายใหม่ๆเหล่านี้ และในปี 1951 ได้มีการจัดแฟชั่นโชว์ที่โรงแรมกลางเมืองเฮลซิงกิ ทว่าแฟชั่นโชว์ยังไม่ทันจะได้จบลง เสื้อผ้าทุกตัวต่างถูกจับจองจนหมดเกลี้ยง และ Printex ก็ได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น ‘Marimekko’ ที่มีความหมายว่า ‘ชุดกระโปรงของแมรี่’ (Mary’s dress) อย่างที่เราได้รู้จักกันนั้นเอง
“ถ้าสถาปนิกสร้างบ้านเพื่อให้คนมีชีวิต ลายผ้าและชุดของ Marimekko ก็เกิดมาเพื่อให้คนมีชีวิตเช่นเดียวกัน คาแรกเตอร์ผู้หญิงฟินแลนด์นั้นน่าสนใจมาก พวกเธอหมกมุ่นกับการอ่านเขียน ดนตรี ศิลปะ งานออกแบบ มากกว่าจะคิดถึงความวุ่นวายและกระแสที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว” – (Armi Ratia)

Credit: Website Find a grave
เมื่อพูดถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของ Marimekko นั้น เกิดจากการยึดหลักปรัชญา “Design is inspired by beautiful everyday life” (งานออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตประจำวันที่สวยงาม)
ทำให้เกิดลวดลายที่หลากหลายบนผืนผ้าที่ยังคงความเป็น Original และสดใหม่อยู่เสมอ เน้นจุดเด่นเรื่องของการใช้สีสันที่สดใส โดยจะมีลายพิมพ์ในตำนานที่เป็นเอกลักษณ์ของ Marimekko อย่าง “ลายอูนิโกะ” (Unikko) หรือดอกป๊อปปี้ในภาษาฟินนิช

Credit: บทความ A day magazine
ซึ่งลายนี้เกิดขึ้นจาก คุณไมยา อีโซลา (Maija Isola) นักออกแบบที่กล้าแหกกฎเหล็กของเจ้าของแบรนด์ ที่ไม่อนุญาตให้ออกแบบลายดอกไม้ เพราะคุณอาร์มีเชื่อว่าเราควรมองดอกไม้ที่เบ่งบานอยู่กับธรรมชาติจริงๆ มากว่าเห็นความสวยงามของมันจากสิ่งพิมพ์ และอยากให้แบรนด์มีความเป็น Unisex ใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

Credit: Official Website Marimekko
หรืออย่างลายทาง Tasaraita อันคลาสสิก จากคุณ อันนิกา ริมาลา (Annika Rimala) นักออกแบบ ผู้เปลี่ยนให้ Marimekko ดูวัยรุ่นขึ้น โดยแรงบันดาลใจของเสื้อลายทางนี้ มาจากเทรนด์เสื้อผ้าเดนิมในปี 1968 เป็นแนวคิดที่จะออกแบบเสื้อผ้าคอตตอนลายทางให้แฟนๆ Marimekko ได้ตามกระแสกันในเวลานั้น
แม้จะมีช่วงที่รุ่งเรืองอย่างถึงขีดสุด แต่ Marimekko ก็ต้องเคยประสบกับภาวะถดถอย ช่วงปี 1970 เป็นช่วงที่เทรนด์เสื้อผ้า เปลี่ยนจากชุดหลวมๆ มานิยมชุดแนบลำตัวมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้น จนในที่สุดแบรนด์ประกาศเลิกพิมพ์ลายด้วยมือในปี 1973 ตามด้วยเหตุการณ์การเสียชีวิตของคุณอาร์มี ที่เป็นผู้ก่อตั้งในปี 1979 ทายาทจึงตัดสินใจขายบริษัทให้กลุ่มธุรกิจ Amer ในปี 1985
ช่วงปี 1980-1990 เป็นช่วงที่ Marimekko เกือบล้มละลายเพราะผลพวงจากการทดลองใช้วัตถุดิบหรูหราตามยุค Marimekko ใช้เวลากอบกู้ชื่อเสียงหลายสิบปี มีการเปลี่ยนมือผู้บริหารอยู่หลายครั้ง และจนในปี 2007 ก็มีการเปลี่ยนมือเจ้าของเป็นคุณ มิกะ อิฮาโมติลา (Mika Ihamuotila) ซึ่งก็มีโจทย์ที่ชัดเจนอย่างการพาแบรนด์กลับมาและเติบโตในระดับโลก

Credit: Official Website Marimekko
และในปี 2015 ได้ส่งไม้ต่อให้คุณ ตินา อัลลาฮูตา-กัสโกะ (Tiina Alahuhta-Kasko) รับหน้าที่เป็นซีอีโอ ซึ่งภารกิจกอบกู้แบรนด์ ได้มีการปรับให้ร่วมสมัยตามเทรนด์แฟชั่นโลกแต่ก็ยังคงรักษาวิถีเดิมแบบนอร์ดิกอยู่ ทำให้ Marimekko มีคาแรกเตอร์แบรนด์ดูเด็กขึ้น จากการกำหนดขอบเขตกลุ่มเป้าหมายใหม่
จากวันนั้นสู่วันนี้ ความนิยมของ Marimekko ไม่ได้มีดีแค่ผลิตเสื้อผ้าเท่านั้น จากการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย เปลี่ยนมือเจ้าของ ทำให้ลวดลายดอกไม้อันเป็นเอกลักษณ์ยังถูกดีไซน์ออกมาผสมผสานกับงานศิลปะแขนงต่างๆ จนไปถึงข้าวของเครื่องใช้ อย่างเครื่องเซรามิกก็ยังออกแบบด้วยลวดลายของ Marimekko ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยยึดหลักที่ว่า คุณภาพจะต้องมาพร้อมกับความสมเหตุสมผล

Credit: บทความ bareo-isyss
และในปัจจุบันการออกแบบได้ขยายความนิยมด้วยการร่วมมือกับแบรนด์ดังต่างๆ อาทิเช่น Converse หรือ Uniqlo ที่กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างมากในเวลานี้ เป็นการสร้างสรรค์ผ่านการ Colab กัน ที่ทำให้กลุ่มลูกค้าของแต่ละแบรนด์ได้เชื่อมโยงกัน

Credit: บทความ bareo-isyss
สุดท้ายแล้ว Marimekko เป็นแบรนด์แฟชั่นที่มีสินค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ หรือเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านต่างๆ ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวและนำเสนอเอกลักษณ์ของแบรนด์เสมอมา ความเรียบง่าย คลาสสิก แต่พัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ จึงทำให้ Marimekko นั้นยังคงเบ่งบานและสวยงามเหมือนดั่งดอกไม้ที่เบ่งบานในธรรมชาติเรื่อยไปนั้นเอง
เรียบเรียงโดย: รัชชานนท์ เฉลิมธารานุกูล (Business Hole in One Team)
ติดตามเรื่องราวสนุกๆ ความรู้ ของธุรกิจ แบรนด์ และการออกแบบกับ Business Hole in One มีเรื่องราวดีๆ มาให้อ่านกันทุกสัปดาห์